รู้ทันความเสี่ยง โรคติดเชื้อที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระวัง!แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี
อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ
“ผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบภาวะโรคติดเชื้อได้บ่อยขึ้น แสดงอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าปกติ และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดมากขึ้น”
โรคติดเชื้ออันตรายอย่างไรกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน?
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะสามารถเกิดการติดเชื้อในร่างกายได้ง่ายกว่าปกติ โดยจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบภาวะโรคติดเชื้อได้บ่อยขึ้น เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากกว่าบุคคลทั่วไป 3-5 เท่า เมื่อเกิดการติดเชื้อแล้ว จะมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงมากกว่า และเพิ่มความเสี่ยงอาการปอดอักเสบมากยิ่งขึ้น จากเชื้อไข้หวัดใหญ่และมีโอกาสติดเชื้อซ้ำซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย หากผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดการติดเชื้อก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด และเมื่อเกิดการติดเชื้อได้ง่าย จะทำให้ต้องนอนโรงพยาบาลหรือพักรักษาตัวนานมากกว่าคนทั่วไป
โรคติดเชื้ออะไรบ้าง ที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระวัง?!
ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระวังความเสี่ยงในการเกิดภาวะติดเชื้อ โดยโรคติดเชื้อที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระวัง แบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้
1. โรคติดเชื้อที่มีภาวะติดเชื้อเฉพาะที่ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยภาวะติดเชื้อเฉพาะที่สามารถแบ่งออกได้เป็นตามอวัยวะ หรือระบบต่างๆ ของร่างกาย
ภาวะติดเชื้อที่ผิวหนัง ได้แก่ การติดเชื้อบริเวณเท้า และการติดเชื้อบริเวณอื่นๆ
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีภาวะติดเชื้อที่ผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณเท้า หรือเรียกว่า Diabetic Foot หมายถึง โรคติดเชื้อที่เท้าซึ่งเกิดจากแผลเบาหวาน เกิดจากความเสื่อมของเส้นเลือดทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย และนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด
โรคเบาหวานกับการดูแลเท้า
ภาวะติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีการกรองน้ำตาลออกมาทางไต ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารของเชื้อโรค ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
ภาวะติดเชื้อที่ปอด ในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบอัตราการเกิดปอดอักเสบได้มากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งเกิดได้จากการหายใจเอาเชื้อเข้าไป หรือเกิดจากเชื้อที่มีอยู่ในร่างกายถูกกระตุ้น เนื่องมาจากภาวะน้ำตาลที่สูงขึ้นบวกกับร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด และเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมา
ภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถพบการเกิดภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารและช่องท้องได้มากกว่าคนปกติ เช่น ฝีในตับ ลำไส้อักเสบ อาการเหล่านี้เกิดเป็นผลข้างเคียงจากโรคเบาหวาน ที่ทำให้เม็ดเลือดขาวในร่างกายอ่อนแอ มีการติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้อลามไปเกาะที่ตับจนนำไปสู่การเกิดฝีในตับ ซึ่งอาการดังกล่าว จำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน และรักษาโดยการฉีดยามากกว่าคนทั่วไป
2. โรคติดเชื้อที่ไม่สามารถระบุอวัยวะได้ / โรคติดเชื้อที่มีแค่อาการไข้ กล่าวคือ ผู้ป่วยมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ ภาวะติดเชื้อเหล่านี้เป็นภาวะโรคติดเชื้อจากไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 ไวรัสตับอักเสบบี อีกกลุ่มจะเป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ทำตัวเหมือนไวรัส หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากบริเวณลำไส้แทบทั้งสิ้น โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีความเสี่ยงที่จะพบการติดเชื้อเหล่านี้ได้มากขึ้นจากการศึกษาที่ผ่านมาค่ะ
เมื่อเกิดภาวะติดเชื้อผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการอย่างไร ควรสังเกตอาการอะไรเป็นพิเศษมากกว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไหม?
วิธีการสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานว่ามีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนในระหว่างที่ตนเองเป็นโรคเบาหวานหรือไม่? ให้สังเกตอาการตนเอง ว่ามีไข้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำมากๆ อาจไม่มีอาการไข้ แต่พบว่ามีอาการหนาวสั่น ขนลุก เจ็บที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ปัสสาวะแสบขัด ไอมากขึ้นกว่าปกติ เสมหะเปลี่ยนสี
หากทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคเบาหวาน และถ้ามีอาการเหล่านี้ อย่ารอนาน ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือดได้มากกว่าคนทั่วไป
ผู้ป่วยโรคเบาหวานทำไมถึงเสี่ยงเสียชีวิต หากเกิดการติดเชื้อ
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เมื่อเกิดภาวะโรคติดเชื้อแล้วจะมีความเสี่ยงเสียชีวิตได้มากกว่าคนปกติ เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักจะมีโรคร่วมอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อัมพาต-อัมพฤกษ์ ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของร่างกายค่ะ
สำหรับโรคเบาหวาน หากผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี โดยมีระดับน้ำตาลในเลือด (แบบตรวจเลือดจากปลายนิ้ว) มากกว่า 180 มก./ดล. ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เม็ดเลือดขาวจะทำงานได้ไม่ดี ร่างกายเกิดการกำจัดเชื้อได้น้อยลง มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนปกติได้หลายเท่า!
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร?
การป้องกันโรคติดเชื้อสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน สามารถทำได้โดย การคุมเบาหวาน แล้วการคุมเบาหวานทำอย่างไร? สำหรับการคุมเบาหวาน หมายถึง ผู้ป่วยจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี อย่าขาดยา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องปฏิบัติ มาพบแพทย์ตามนัด ควรมียาสำรองไว้ที่บ้านให้เพียงพออย่างน้อยสำหรับ 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ ควรควบคุมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ควบคุมระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) โดยจะต้องไม่เกิน 6.5 mg% สำหรับผู้ป่วยปกติ และไม่ควรเกิน 8 mg% สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ
นอกจากการคุมเบาหวานแล้ว การป้องกันภาวะโรคติดเชื้อที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปฏิบัติ คือ การฉีดวัคซีนค่ะ ซึ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานถือเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ โดยสามารถแบ่งวัคซีนได้เป็น 2 ประเภท
กลุ่มวัคซีนที่จำเป็น ได้แก่ วัคซีนป้องกันโควิด โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับวัคซีนให้ครบโดส หากได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว เมื่อถึงกำหนดรับวัคซีนเข็ม 3 (Booster) แนะนำให้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ตามชนิดของวัคซีนที่ได้รับไปแล้วก่อนหน้า อย่ารีรอ หรืออย่ากลัวที่จะรับวัคซีนค่ะ
กลุ่มวัคซีนที่ควรฉีดทุกปี อย่างที่หมอได้กล่าวไปข้างต้นนะคะ ว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานหากเกิดภาวะโรคติดเชื้อก็จะมีอาการรุนแรงและเกิดการติดเชื้อได้มากกว่าคนทั่วไป โดยวัคซีนที่ควรฉีดทุกปี คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Flu) แบบ 4 สายพันธุ์ โดยฉีดปีละ 1 ครั้ง แนะนำฉีดวัคซีนชนิดนี้ในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ค่ะ
กลุ่มวัคซีนทางเลือก สามารถแบ่งได้ตามช่วงอายุ ดังนี้ค่ะ
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Shingles Vaccine) ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัด เพื่อลดความรุนแรงของโรค หากเป็นงูสวัด พบว่ามีตุ่ม ผื่น ขึ้นที่ร่างกายน้อย และช่วยลดอาการปวดที่บริเวณปลายประสาท เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความถี่ของการเกิดโรคงูสวัด โดยวัคซีนชนิดนี้ฉีด 1 เข็ม สามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต
วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal Vaccine) วัคซีนชนิดนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ (PPSV23) และ วัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ (PCV13) โดยแนะนำให้ฉีดทั้ง 2 ชนิด โดยเว้นระยะห่างกัน 1 ปี หมอแนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานทุกคนฉีดวัคซีนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (DaPT) แนะนำควรฉีดอย่างน้อย 1 ครั้ง และควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักทุก 10 ปี
วัคซีนป้องกับไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis-B Vaccine) ควรฉีดให้ครบ 3 เข็ม เพื่อป้องกันการเกิดติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ โดยจากการศึกษาพบว่าประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยโรคเบาหวานหากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ จะส่งผลให้มีอาการตับอักเสบ ตับวาย และสามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า