โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเอคซิม่า (Eczema) คือ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ชนิด Atopic Dermatitis เป็นปฏิกิริยาอย่างหนึ่งของผิวหนังที่มีต่อสาเหตุบางอย่าง อาจเกิดจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้ ส่งผลให้อาการของโรคแสดงออกได้มากน้อย แตกต่างกัน โดยโรคนี้มีผลต่อคุณภาพชีวิต เนื่องจากมีอาการคันมาก จนนอนไม่หลับ ซึ่งมีผลกระทบทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล นอกจากนี้ การเกาจนมีแผลถลอกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
ลักษณะอาการโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเอคซิม่า
จะมีอาการคันที่ผิวหนัง ผิวมักมีลักษณะแห้ง เป็นขุย มีผื่นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ เช่น ผื่นสีชมพูระเรื่อ ผื่นแดงคัน ผื่นมีน้ำเหลืองพุพอง จนกระทั่งทำให้ผิวหนังหนาตัวขึ้น ลักษณะผื่นจะแตกต่างกันออกไปตามระยะ บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย และต่างกันตามอายุของผู้ป่วย
วัยทารก 1-2 ปี ผื่นขึ้นที่ใบหน้า ต่อมากระจายมาที่ด้านนอกของแขนและขา หนังศีรษะแห้งเป็นขุย หรือมีคราบน้ำเหลือง
วัยเด็ก ผื่นขึ้นบริเวณข้อพับ บริเวณที่มีเหงื่อมาก เช่น ข้อพับแขน ข้อพับขา ข้อมือ ซอกคอ ถ้าเป็นเรื้อรังผื่นจะมีลักษณะหนา
วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผื่นขึ้นบริเวณที่ระคายเคืองบ่อย เช่น มือ แขน คอ รอบหัวนม
แนวทางการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเอคซิม่า
การรักษาโรคผืนภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเอคซิม่า ควรเริ่มจากการดูแล ผิวหนังเบื้องต้นก่อน ในกรณีที่รุนแรงมากแพทย์อาจให้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง ดังนี้
1. ดูแลผิวให้ชุ่มชื้น ควรดูแลผิวกายให้ดีเป็นประจำ ซึ่งต้องควบคู่ไปกับการดูแลรักษาโดยแพทย์ นอกจากนี้ผู้ปกครองมีส่วนช่วยอย่างมากในการดูแลรักษาผื่นนี้โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งควรเลือกใช้ครีมบำรุงผิวหรือโลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้นที่อ่อนโยน ไม่มีสารไขมันจากสัตว์ (ก่อการแพ้ได้) ไม่มีน้ำหอม มีค่า PH หรือกรดด่างสมดุลต่อผิว มีสารประกอบที่เคลือบผิวได้ดี มีสารที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ที่ผิวได้ โดยสามารถปรึกษาแพทย์ที่รักษาให้สั่งจ่ายครีมสำหรับผิวภูมิแพ้โดยเฉพาะเท่านั้นได้
ปัจจุบันมีครีมที่มีส่วนประกอบของสารต่างๆ ที่เหมาะสมกับผื่นภูมิแพ้ ส่วนการอาบน้ำ ให้หลีกเลี่ยงน้ำอุ่นจัด หรือน้ำร้อน ระยะที่เป็นมากควรต้องลดเวลาที่แช่น้ำ ลดจำนวนครั้งความถี่ของการอาบน้ำ เช่น ลดเหลือวันละหนึ่งครั้ง ลดการใช้สบู่
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งระคายเคือง ควรหลีกเลี่ยงสารที่ท่านแพ้ เช่น สบู่ ผงซักฟอก เสื้อผ้าเนื้อหยาบ ไรฝุ่น และสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอตรวจทดสอบสารที่แพ้ได้ ที่ศูนย์ผิวหนัง และศูนย์ภูมิแพ้ โรงพยาบาลนครธน
3. เลี่ยงอาหารที่มีอาการแพ้ เช่น นมวัว ไข่ ถั่วลิสง ข้าวสาลี (wheat) และควรหลีกเลี่ยงสารที่ท่านแพ้ เช่น สบู่ ผงซักฟอก เสื้อผ้าเนื้อหยาบ ไรฝุ่น โดยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอตรวจทดสอบสารที่แพ้ได้ ที่ศูนย์ผิวหนัง และศูนย์ภูมิแพ้ โรงพยาบาลนครธน
4. ใช้ยาเพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง ยาทาประเภทสเตียรอยด์ (topical corticosteroid) มีความเข้มข้น และเป็นตัวยาที่มีความแตกต่างหลายชนิด หลายระดับ จึงไม่ควรซื้อยาทาผื่นเอง เพราะอาจมีผลข้างเคียง และควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ ด้านการรับยานั้น ผื่นหนาที่ผิวหนังบริเวณมือจะได้รับยาที่มีฤทธิ์แรงกว่า ในขณะที่ผิวหนังบริเวณใบหน้าข้อพับจะได้รับยาที่อ่อนกว่า
ยาที่ปรับภูมิคุ้มกันโดยปราศจากสเตียรอยด์ เช่น Tacrolimus Pimecrolimus
ยารักษาการติดเชื้อร่วม เชื้อรา เชื้อไวรัสเริม เชื้อแบคทีเรีย จะกระตุ้นให้โรคกำเริบได้บ่อย
5. ลดการคัน
งดการแคะแกะเกา ทุกชนิด ยิ่งเกายิ่งคันผื่นไม่หาย
ยาแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine สามารถลดอาการคันผื่นหายเร็วขึ้นได้
การทาครีมที่มีสารลดอาการคันอาการอักเสบ ร่วมกับการทายาประเภทสเตียรอยด์ เพื่อลดความจำเป็นในการใช้สเตียรอยด์ ทำให้ผิวหนังมีสุขภาพดี โดยเฉพาะผิวเด็กและผิวหน้า
โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเอคซิม่า มุ่งเน้นการรักษาผิวหนังที่อักเสบให้กลับมาเป็นผิวหนังที่ปกติและป้องกันการเห่อซ้ำของผื่น ด้วยการรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ
ดูแลสุขภาพ: โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเอคซิม่า (Eczema) กับการรักษาให้ถูกวิธี อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.healthyhitech.net/