ซ่อมบำรุงอาคาร: ปัญหาที่เกิดกับเครื่องปรับอากาศ พร้อมวิธีแก้ไขและบำรุงรักษาพอเข้าหน้าร้อน เครื่องปรับอากาศต้องทำงานเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ จึงรวมปัญหาที่อาจจะเกิดกับเครื่องปรับอากาศ พร้อมวิธีแก้ไขมาฝาก อีกทั้งยังมีวิธีการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้สามารถยืดระยะเวลาการใช้งานได้นานขึ้น
ปัญหาที่เกิดกับเครื่องปรับอากาศ และวิธีแก้ไข
1. เครื่องปรับอากาศ มีน้ำหยด
สาเหตุที่ 1: ถาดหรือท่อน้ำทิ้งอุดตัน
แนวทางแก้ไข: ช่างล้างแอร์ล้างทำความสะอาด โดยใช้เครื่องเป่าลมและเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง
สาเหตุที่ 2: ฉนวนหุ้มท่อภายในเครื่องชำรุด หรือฉีกขาด
แนวทางแก้ไข: ติดต่อช่างผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่
สาเหตุที่ 3: มด แมลง ทำรังที่บริเวณท่อน้ำทิ้ง
แนวทางแก้ไข: ให้สำรวจท่อน้ำทิ้งนอกอาคาร หากเกิดจากสาเหตุนี้ให้ล้างทำความสะอาด และฉีดสเปรย์กำจัดแมลง เพื่อไม่ให้กลับมาทำรังอีก
2. เครื่องปรับอากาศมีกลิ่นอับชื้น
สาเหตุ: เกิดจากการควบแน่นของน้ำ จนทำให้มีความชื้นภายในเครื่อง
แนวทางแก้ไข: ปิดคอนเดนเซอร์ส่วนระบายความร้อน แต่เปิดส่วนเป่าลมเย็น เพื่อให้พัดลมเป่าความชื้นให้หมดไป กลิ่นอับจะลดลงและหายไป (โดยกดปุ่มที่ฟังก์ชั่น Fan จากรีโมทคอนโทรล)
3. เครื่องปรับอากาศไม่เย็น และกินไฟมาก
สาเหตุที่ 1: ทางลมเข้าเครื่องมีฝุ่นผงเกาะหนา จนเครื่องทำงานหนัก
แนวทางแก้ไข: เบื้องต้นสามารถทำความสะอาดได้ด้วยตนเอง หากอาการยังอยู่ให้ติดต่อช่างผู้เชี่ยวชาญ
สาเหตุที่ 2: น้ำยาแอร์หมด
แนวทางแก้ไข: ติดต่อช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบอาการและเติมน้ำยาแอร์
สาเหตุที่ 3: เครื่องปรับอากาศ และคอนเดนเซอร์ อยู่ห่างกันเกินไป/ ชุดระบายความร้อนอยู่ในที่อับลม/ ชุดระบายความร้อนอยู่ในตำแหน่งที่โดนแดดโดยตรง
แนวทางแก้ไข: ติดต่อช่างผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาจุดติดตั้งและย้ายตำแหน่งไปในจุดที่เหมาะสม
การบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ
1. ติดตั้งชุดระบายความร้อนในตำแหน่งที่เหมาะสม
- ชุดระบายความร้อนของเครื่องปรับอากาศ (คอนเดนเซอร์) ซึ่งติดตั้งอยู่ภายนอกบ้าน ควรติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่โดนแสงมากนักโดยเฉพาะแสงช่วงบ่าย เนื่องจากว่าจะทำให้เครื่องทำงานหนักขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานลดลง
- ติดตั้งในที่อากาศถ่ายเท ไม่ชื้น เนื่องจากความชื้นทำให้เครื่องผุพังเร็ว
- ติดตั้งให้ห่างจากผนัง อย่างน้อย 15 เซนติเมตร หากติดตั้งชิดผนังมากเกินไปจะทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟมากขึ้นร้อยละ 15 - 20
2. ควรให้ช่างตรวจเช็คแอร์ทุก 6 เดือน เพื่อล้างทำความสะอาดเครื่อง ตรวจเช็คน้ำยาแอร์ ตรวจสอบการทำงานของเครื่อง และการระบายน้ำจากตัวเครื่องไม่ให้น้ำไหลย้อนหยดภายในห้อง
3. การทำความสะอาดด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
- ทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศหรือฟิลเตอร์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดีไม่ควรปล่อยให้มีฝุ่นเกาะ เนื่องจากจะเป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อโรคและแบคทีเรีย และเพื่อลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งทำได้โดยการเปิดฝาครอบเครื่องปรับอากาศและฟิลเตอร์ ซึ่งอยู่ที่ส่วนเป่าลมเย็นออกมาล้างน้ำ ปล่อยให้แห้ง และใส่กลับที่เดิม
- ทำความสะอาดคอนเดนเซอร์แอร์ หรือคอยล์ร้อน เนื่องจากเป็นส่วนที่อยู่ภายนอกอาคาร จึงทำให้มีฝุ่นเกาะค่อนข้างมาก การทำความสะอาดทำได้โดย ปิดเครื่องปรับอากาศและสับเบรคเกอร์ให้อยู่ในตำแหน่ง 0ff จากนั้นใช้น้ำฉีดไล่ฝุ่นผงบริเวณแถบระบายความร้อน เมื่อทำความสะอาดเรียบร้อย ทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง จึงจะสามารถเปิดใช้งานได้อีกครั้ง